รักษาโรคเหงือก
Gum treatment

โรคเหงือกอักเสบ

โรคเหงือกอักเสบคืออะไร

โรคเหงือกอักเสบ คือ อาการอักเสบของเหงือกซึ่งเป็นอาการเริ่มแรกของโรคเหงือกต่างๆ สาเหตุโดยตรงของเหงือกอักเสบคือ แผ่นคราบแบคทีเรียที่เกาะอยู่ที่เหงือกและฟัน ถ้าแผ่นคราบแบคทีเรียไม่ถูกกำจัดออกไปเป็นประจำด้วยการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟัน จะก่อให้เกิดสารพิษที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ ในช่วงแรกของโรคเหงือกนี้ สามารถจะรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากกระดูกรองรับฟันยังไม่ถูกทำลาย แต่ถ้าทิ้งไว้นานไม่รักษา อาการเหงือกอักเสบก็อาจกลายเป็นโรคปริทันต์ และทำให้เกิดความเสียหายกับฟันและกระดูกรองรับฟันอย่างถาวร

เราจะรู้ว่าเป็นโรคเหงือกอักเสบได้อย่างไร

unnamed-1 อาการที่พบมากสำหรับโรคนี้คือ การบวมแดงของเหงือกซึ่งอาจมีเลือดออกเวลาแปรงฟัน

เราจะป้องกันโรคเหงือกอักเสบได้อย่างไร 

การดูแลความสะอาดของช่องปากและฟันที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ การทำความสะอาดโดยผู้เชี่ยวชาญก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันเมื่อมีการสะสมตัวของคราบแบคทีเรียที่มากและแข็งจนกลายเป็นหินปูน ซึ่งทันตแพทย์เท่านั้นที่จะขจัดออกได้

เราสามารถป้องกันโรคเหงือกอักเสบได้โดย:

  • การแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธีเพื่อขจัดคราบแบคทีเรียไม่ให้สะสม
  • การรับประทานอาหารที่ถูกโภชนาการสำหรับฟันและกระดูก
  • งดการสูบบุหรี่
  • การพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อตรวจและทำความสะอาดฟัน

 

โรคปริทันต์

โรคปริทันต์ คือ อะไร

unnamed-2 โรคปริทันต์ หมายถึง โรคที่เกิดการทำลายเนื้อเยื่อหรืออวัยวะรอบ ๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เนื้อเยื่อปริทันต์ และกระดูกหุ้มรากฟัน ในระยะแรกที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการใดๆ ต่อมาจะมีการทำลายอวัยวะเหล่านี้ ทำให้กระดูกหุ้มรากฟันละลายและเหงือกร่น อาจมีการปวดบวม ฟันโยกและหลุดในที่สุด ชาวบ้านมักเรียกว่า โรครำมะนาด

สาเหตุของโรคปริทันต์

สาเหตุทางตรง คือ สารพิษที่เป็นของเสียจากเชื้อจุลินทรีย์ในแผ่นคราบจุลินทรีย์ถูกขับออกมาตามขอบเหงือก ทำให้เหงือกอักเสบ บวมแดง กระดูกรองรับฟันละลายตัว ขบวนการนี้จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ปัจจัยเสริมที่มีผลต่อการเกิดโรคปริทันต์ คือ หินน้ำลาย ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสในน้ำลายรวมกับแผ่นคราบจุลินทรีย์ แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนสภาพจากอ่อนนุ่มเป็นแข็งขึ้นตามระยะเวลาที่สะสม ในที่สุดจับเป็นก้อนแข็ง เรียกว่าหินน้ำลาย ซึ่งไม่อาจขจัดออกได้ด้วยการแปรงฟัน และเป็นที่เกาะยึดของแผ่นคราบจุลินทรีย์ได้เป็นอย่างดี จึงทำให้การอักเสบของเหงือกรุนแรงขึ้นการทำลายมีมากขึ้น ในที่สุดอาจเป็นหนองหรือที่เรียกทั่วไปว่า รำมะนาด ทำให้มีกลิ่นปาก ฟันโยก และหลุดไปในที่สุด

สาเหตุทางอ้อม ได้แก่

  • การขาดสารอาหาร โดยเฉพาะการขาดวิตามินซี บี และ ดี
  • ฟันซ้อนเก ฟันเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ หรือมีลักษณะฟันที่ผิดปกติ ทำให้ทำความสะอาดยาก
  • การใส่ฟันปลอมไม่ถูกลักษณะ อาจทำให้เกิดโรคเหงือกได้
  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของร่างกายเมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงจากบางสภาวะ เช่น หญิงมีครรภ์ การเข้าสู่วัยหนุ่มสาว
  • ลักษณะของอาหารที่รับประทาน ถ้าอาหารละเอียดอ่อนนิ่มติดฟันง่าย หรือมีส่วนผสมของน้ำตาลมาก จะทำให้มีการสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์มากขึ้น
  • การเคี้ยวอาหารโดยใช้ฟันเพียงข้างเดียว ฟันข้างที่ไม่ได้ใช้จะไม่ได้รับการขัดสีจากอาหาร ทำให้แผ่นคราบจุลินทรีย์และหินน้ำลายสะสมมากขึ้น
  • การหายใจทางปาก หรือริมฝีปากไม่สามารถปิดสนิท
  • การระคายเคืองจากสารเคมี

ผลเสียของโรคปริทันต์

  • ติดเชื้อ เป็นหนอง เจ็บปวดทรมานและมีกลิ่นปาก
  • ฟันโยก เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด
  • สูญเสียฟันหลายซี่พร้อม ๆ กัน
  • เชื้อโรคแพร่กระจายสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ติดเชื้อที่หัวใจได้ เป็นต้น